คณะรัฐมนตรีคณะที่ 61 (31 สิงหาคม พ.ศ. 2557 — ปัจจุบัน) เป็นคณะรัฐมนตรีไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ภายหลังรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการแต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตาม พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 โดยลำดับ
ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี (ตามรายนามข้างล่าง) ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 เวลา 18:03 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า “ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อ ประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557
วันที่ 2 ตุลาคม 2557 หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสามเดือนแรก ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2557 ใช้เงินทั้งสิ้น 364,465.4 ล้านบาท ได้แก่ 1. การเร่งใช้เงินลงทุนของปีงบประมาณ 2557 ที่ค้างอยู่ 147,050 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน 2. เร่งรัดทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2558 ทั้งสิ้น 449,475 ล้านบาท เฉพาะในไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ 149,146 ล้านบาท 3. เป็นมาตรการเร่งลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศ โดยใช้งบจากโครงการไทยเข้มแข็งและงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินปี 2555-2557 ที่ยังไม่ได้จัดสรรรวม 23,000 ล้านบาท โดยเน้นการซ่อม สร้าง มากกว่าที่สนองตอบความต้องการของประชาชนจริง ๆ 4. ทบทวนเงินที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 วงเงิน 24,900 ล้านบาท ให้แต่ละกระทรวงหาวิธีใช้จ่ายเอง หากไม่รู้ให้คืนมาส่วนกลางเพื่อจะเอาไปใช้ในไตรมาสต่อไป และ 5. ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา วงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยจะแจกเงินให้ชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ในปีนี้ ส่วนปีต่อไปให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว เงินที่ให้จะใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจ่ายไปก่อน แล้วรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยให้ในปีหน้า รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า "ที่รัฐบาลใช้เงินรอบนี้ 40,000 ล้านบาท ก็ดีกว่าไปขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวปีละ 250,000 ล้านบาท และทำแค่ปีเดียวเท่านั้น ไม่เรียกว่าเป็นโครงการประชานิยม เพราะไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ตอนนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
วันที่ 21 ตุลาคม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยอาจมีวงเงินสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท และกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาขยายเวลาจาก 8 ปีเป็น 10 ปี
วันที่ 22 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับเพดานสูงสุดของเงินเดือนทหารและตำรวจ เฉลี่ยคนละ 400-1,300 บาทต่อเดือน ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 โดยพลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือนจากการปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ออก ข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคล ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ลดราคา เมื่อเดินทาง 5สถานี 8สถานี และ 11สถานี โดยลดราคา เมื่อเดินทาง 5สถานี 8สถานี และ 11สถานีในราคา 1 บาท
วันที่ 30 กันยายน 2557 มีแหล่งข่าวทางทูตว่า ความปรารถนาชัดแจ้งและดิ้นรนที่จะได้การรับรองจากตะวันตกผลักดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสวงการให้สัญญาณเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการริเริ่มที่มีแก่นสาร ความผิดหวังกับวิธีที่กองทัพจัดการการทูตหลังรัฐประหารยังมาจากผู้ที่คัดค้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุคคลเหล่านั้นรู้สึกว่ากองทัพล้มเหลวในความพยายามให้ความเชื่อมั่นแก่ชุมชนระหว่างประเทศในการวางผังสิ่งที่ประเทศไทยมีแผนทำในปีสองปีข้างหน้า
การเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างใหญ่โต รวมทั้งสมาชิกครอบครัวที่นั่งเครื่องบินพิเศษไป ทำให้เห็นว่า กองทัพไทยขาดความรู้หรือความละเอียดอ่อนในการติดต่อกับโลก โดยแสดงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า พลเอกธนะศักดิ์สามารถสัมผัสมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จอห์น เคอร์รี ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติหรือที่การประชุมสหรัฐ-อาเซียนในสมัยประชุมสหประชาชาติ แหล่งข่าวว่า "ฉะนั้นเมื่อคุณเคอร์รีไม่แสดงท่าทีผิวเผินและสัมผัสมือกับพลเอกธนะศักดิ์ดังที่ฝ่ายไทยต้องการ จึงกลายเป็นประเด็น เรากำลังเสียหน้า"
แหล่งข่าวกระทรวงการต่างประเทศอีกแหล่งหนึ่งว่า พลเอกธนะศักดิ์พาดพิง "ประชาธิปไตย" 13 ครั้งในสุนทรพจน์เขา ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามาพาดพิงเจ็ดครั้ง และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด แคเมอรอนพาดพิง 10 ครั้ง การอ้างถึงประชาธิปไตยบ่อยครั้งกลายเป็นเรื่องขบขันในบรรดาสมาชิกชุมชนทางทูต ข้าราชการว่า "โชคดีที่ไม่มีคนไทยประท้วงต่อต้านรัฐประหารระหว่างพลเอกธนะศักดิ์อยู่ในนิวยอร์ก หาไม่แล้วคงเป็นเหตุการณ์น่าอดสูอย่างแท้จริง"
วัลเดน เบลโล (Walden Bello) รองประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่า "พลเอกพูดถึงความจำเป็นสำหรับ "การเคารพหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม" โดยชัดเจนว่าไม่ตระหนักถึงการแฝงนัยลึก เหล่านี้เป็นสิ่งที่ระบอบทหารและผู้สนับสนุนในประเทศไทยเพิกเฉยและทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อบั่นทอนทำลายเป็นเวลาแปดปีมาแล้ว"
วันที่ 1 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสประชาชาติที่ 2141 (ปี 2557) เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและคณะผู้เชี่ยวชาญภายใต้คณะกรรมการคว่ำบาตร
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประณามไทยที่ส่งตัวผู้คัดค้านรัฐบาลจีนสองคนซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนแล้วกลับประเทศด้วยเหตุว่าไม่มีวีซา ทั้งสองมีกำหนดส่งตัวไปยังประเทศที่สามในอีกไม่กี่วันให้หลัง มีรายงานว่า หนึ่งในสองคนนี้ถูกจับและทรมาน
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 เขาออกประกาศเก็บค่าหนังสือเดินทางชาวมาเลเซียที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยคนละ 200 บาท ยกเว้นเสียบุคคลที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
รัฐบาลมีนโยบายจำกัดการแสดงออกทางการเมืองของทุกฝ่ายโดยใช้กฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2559 ประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายใต้ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 การแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ถือเป็นยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 การแสดงออกทางการเมืองมักมีความเห็นจากรัฐบาลว่า "มีเจตนาไม่บริสุทธิ์แอบแฝงทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยที่สูญเสียอำนาจ"ข้อหาดังกล่าวต้องขึ้นศาลทหาร รวมถึงถูกตั้งข้อหาตามความผิดฐานขัดคำสั่งหรือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมักมีการแจ้งข้อหา ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพิ่มเติม การจับกุมและเรียกรายงานตัวส่วนใหญ่เน้นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ พรรคเพื่อไทย จอน อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ นักวิชาการกลุ่ม สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และผู้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์ อาทิคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และผู้ลงรายชื่อให้แก้กฎหมายดังกล่าวเช่นเรียกรายงานตัว วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จับกุม ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน จับกุมบุคคลที่เรียกกลุ่มตัวเองว่า ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ บุคคลที่เจ้าหน้าที่สืบทราบและกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสถาบันกษัตริย์อาทิ นายสิรภพ กรณ์อุรุษ บุกรุกสำนักงานเว็บไซด์ประชาไท เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความพยายามให้สหประชาชาติแทรกแซง การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารในประเทศไทย อาทิการส่งข้อมูลรายงานที่เสนอเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ต่างชาติ หรือพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในประเทศไทย โดยทำเป็นขบวนการ
รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งทางออกอินเทอร์เน็ตทางเดียวทั้งประเทศ (single gateway) เพื่อให้รัฐบาลสามารถสอดส่องทุกกิจกรรมออนไลน์ได้ โดยในเดือนสิงหาคม 2558 ได้ปรากฏเอกสารข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้ง single gateway โดยอ้างเหตุผลว่า "เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต"
ประเด็นสำคัญหนึ่งที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาจต้องจัดการ คือ การเข้ารหัสลับ โดยเข้ารหัสอาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถเฝ้าสังเกตการไหลเข้าออกประเทศของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ต แปลว่าประเทศไทยอาจสั่งห้ามการเข้ารหัสลับ ร่วมกับอุปกรณ์อำพรางอย่างเครือข่ายส่วนตัวเสมือนและทอร์
ในเดือนต่อมา นโยบายดังกล่าวได้รับการต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากเป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนและจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในวันที่ 30 กันยายน ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศจำนวนมากได้เข้าโจมตีระบบเว็บไซต์ของทางราชการในรูปแบบ DDos จน 7 เว็บไซต์จนไม่สามารถใช้การได้เพื่อเป็นการประท้วง[ต้องการอ้างอิง]
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ประธานคณะกรรมการ
กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 ราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ้นสภาพจากตำแหน่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง นาย ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2559 หลังจากนั้นมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แต่งตั้ง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ เป็นผู้จัดการกองทุน และแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 รายวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 รายและอนุมัติการลาออกของ นาย ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ จากตำแหน่งรองประธานกรรมการคนที่สอง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2558 แต่งตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม
คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 7 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ แพทย์หญิง สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายแพทย์ จรัล ตฤณวุฒิ นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นายแพทย์ พินิจ หิรัญโชติ นาง ชุมศรี พจนปรีชา นาย สมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา มีผลในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขจำนวน 6 ราย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สายพิณ หัตถีรัตน์ นายแพทย์ ชาตรี บานชื่น นาย วีรพงษ์ เกรียงสินยศ นาย จิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง พันเอก นายแพทย์ พงศธร เนตราคม ร้อยตำรวจเอก จิรสวัสดิ์ สุรฤทธิ์ธำรง มีผลในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี พ.ศ. 2559 ได้มีนายทหาร 82 ราย ตำรวจ 15 ราย กองอาสารักษาดินแดน 3 ราย เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ในจำนวนรวม 100 ราย
นายทหารจำนวน 2 ราย เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไทย 2 หน่วยงาน ได้แก่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ พลเอก ชาตอุดม ติตถะสิริ นายทหารจำนวน 1 ราย เป็นประธานกรรมการ 2 หน่วยงาน ได้แก่ พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข
อย่างไรก็ตามรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานมีทหารและตำรวจเป็นกรรมการอยู่ก่อนแล้ว คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ไม่ได้มีมติแต่งตั้งทั้งหมด โดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยในปี พ.ศ. 2559 มีทั้งหมด 56 แห่ง มี ทหารหรือตำรวจ เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ ทั้งหมด 47 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83
รายนามนายทหารทั้งหมดที่นั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไทยเป็นดังต่อไปนี้
ภายใต้ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 มีการจับกุมบุคคลด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในอินเตอร์เน็ท ซึ่งความผิดดังกล่าวบุคคลเหล่านั้นทำก่อนที่จะเกิด การ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 44/2557 48/2557 49/2557 53/2557 และ 58/2557 เรียกบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวให้มารายงานตัวผู้ไม่มารายงานตัวจะมีความผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาทิ ทอม ดันดี โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า รัฐบาลนี้จะไม่ยอมให้สำหรับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรัฐบาลแถลงว่า การดำเนินการของรัฐบาลภายใต้คดีที่นำขึ้นศาลทหารนั้นส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัว ผู้มารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ถูกทำร้ายร่างกาย อย่างไรก็ตามโทษของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ถูกเพิ่มขึ้นในศาลทหารภายหลัง รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 หมายถึงบุคคลที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายหลัง รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 จะต้องรับโทษจำคุกมากขึ้น และมักไม่ได้รับการประกันตัว หรือได้รับประกันตัวในวงเงินประกันที่สูงมากพร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ภายใต้รัฐบาลคณะนี้ คนไทย ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพถือว่าเป็นศัตรูกับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติและจะถูกจับกุมดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่ารัฐบาลเห็นคนไทยส่วนหนึ่งเป็นศัตรู และแสดงความไม่เห็นด้วยในการเพิ่มโทษในความผิดนี้รวมถึงการขึ้นศาลทหาร
วันที่ 2 ตุลาคม 2557 พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ฝ่ายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาทว่า "ผมไม่อยากให้รัฐบาลรังเกียจนโยบายประชานิยม อย่ามองว่าเป็นสิ่งไม่ดี เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ก็เป็นประชานิยม แต่เป็นประชานิยมแบบกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าทำนโยบายประชานิยม จึงทำให้การช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะชาวนาทำได้ไม่เต็มที่ เขายังคงเดือดร้อนอยู่ เพราะเงินที่ใส่ลงไปไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุนค้าใช้จ่ายทำนา"รัฐบาลให้อำนาจ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ตาม ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ พ.ศ. 2559 โดยอ้างว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยประสบปัญหาการชะลอตัว
เป็นทีทราบกันว่า หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุลมีความขัดแย้งกับนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม สื่อมวลชนรายงานข่าวว่าเขาขู่หากไม่ปลดจะยกทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจออกทั้งหมดจนในที่สุดในการปรับคณะรัฐมนตรีมีการปรับหม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ออกจากทุกตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เขายังปรับคณะรัฐมนตรีในส่วนเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมดและให้ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นปลัดกระทรวงพลังงานตามเดิม
มีข้อเท็จจริงว่าภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 องค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สั่งปลดข้าราชการระดับสูงอาทิกรณีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองสั่งปลด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558
โดยอ้างว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หัสวุฒิ รู้เห็นเป็นใจและรับทราบว่า นาย ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในขณะนั้น ส่งจดหมายน้อยถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาเลื่อนตำแหน่งนายตำรวจยศ พันตำรวจโท ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงสกุล ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการศาลปกครอง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เนื่องจากว่าไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้อง ในวันเดียวกัน นาย ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง โดยเป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่าเป็นการขอร้องให้ลาออกจากราชการ
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง โดยมีผลในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559
ในขณะที่ ผศ.ดร. หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ให้ข้อสังเกตว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความกังวลว่าจะถูกกล่าวหา จาก พรรคเพื่อไทย ว่าแทรกแซงศาลปกครอง จึงไม่กล้าดำเนินการใด ๆ และ พรรคเพื่อไทย เห็นเขาเป็นศัตรูทางการเมือง มีการดำเนินการจะเอาผิดเขาให้ได้ตั้งแต่ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 60 และมีการแถลงการประณามจาก ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติปลดนายภุชงค์ นุตราวงศ์ พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้งโดยอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีความขัดแย้งในองค์กรภายหลัง การรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นอีกองค์กรซึ่งได้รับการวิจารณ์อย่างมากเนื่องจากประธานกรรมการพลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงมีการมองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่งพลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และได้มีการพิจารณาอำนาจในการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 โดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชาย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. การพิจารณาอำนาจในการถอนฟ้องมีมติว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจในการถอนฟ้อง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 93/2557 เรื่อง ยกโทษปลดออกจากราชการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะรัฐมนตรีไทย_คณะที่_61